สาขาสถาปัตยกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โครงการนำร่อง แผ่นพับ ผลการสำรวจรูปแบบสถาปัตยกรรมในย่านถนนเจริญเมือง

         

โครงการนำร่อง แผ่นพับ ผลการสำรวจรูปแบบสถาปัตยกรรมในย่านถนนเจริญเมือง

 

   ย่านถนนเจริญเมือง เป็นย่านการค้าเก่าที่มีเรื่องราวทางสถาปัตยกรรม ที่หลากหลายยุคสมัย อันเกิดจากการสร้างสรรค์ของแต่ละเจ้าของ แต่ละการใช้งาน แต่ละช่วงเวลาการ จัดทำเนื้อหาสถาปัตยกรรมในย่านถนนเจริญเมืองเป็นแผ่นพับจะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจเพื่อสนับสนุนการรักษาอาคารที่มีคุณค่าในย่านไว้ ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจแก่ผู้เป็นเจ้าของอาคาร




ชุดแผ่นพับที่จัดทำ สามารถรับได้ที่ ททท.จังหวัดแพร่ คุ้มเจ้าหลวง บ้านวงศ์บุรี เทศบาลเมืองแพร่
ร้านค้าในย่านถนนเจริญเมือง   และ สาขาสถาปัตยกรรม มทร.ล้านนา

โครงการนำร่อง แผนที่ของดีในย่านถนนเจริญเมือง

โครงการนำร่อง แผนที่ของดีในย่านถนนเจริญเมือง

วัตถุประสงค์

1. เพื่อรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตในย่าน   เจริญเมือง

2. เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลประวัติศาสตร์ ทางด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตในย่านเจริญเมือง

            ย่านถนนเจริญมือง  เป็นย่านการค้าดั้งเดิม เติบโตขึ้นในช่วงที่ชาวตะวันตก เช่น เดนมาร์ก อังกฤษ เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ หรือในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีพ่อค้าชาวไทใหญ่ ชาวอินเดีย และชาวจีน เข้ามาประกอบกิจการ โรงเหล้า โรงสี   โรงฝิ่น โรงหนัง โรงแรม ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าที่ทันสมัยที่สุดของเมืองแพร่ ก่อนที่จะปิดกิจการ หรือขยายตัวออกไปยังพื้นที่บริเวณอื่น จึงทำให้ย่านการค้าแห่งนี้ไม่คึกคักเช่นในอดีต

            ปัจจุบันย่านถนนเจริญเมือง ยังมีร่องรอยสถาปัตยกรรมที่หลากหลายยุคสมัย อันเกิดจากการสร้างสรรค์ ของแต่ละเจ้าของ แต่ละการใช้งาน แต่ละช่วงเวลา  ที่บอกเล่าถึงความเป็นมาในอดีตของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี นับเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ ที่มีคุณค่าอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย



ชุดแผ่นพับที่จัดทำ สามารถรับได้ที่ ททท.จังหวัดแพร่ คุ้มเจ้าหลวง บ้านวงศ์บุรี เทศบาลเมืองแพร่
ร้านค้าในย่านถนนเจริญเมือง  และ สาขาสถาปัตยกรรม มทร.ล้านนา





วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โครงการนำร่อง ฮ่วมฟื้นเมืองแป้หื้อน่าอยู่ มีชีวิตชีวา

โครงการนำร่องที่นำไปปฏิบัติเป็นรูปธรรม

 โครงการนำร่อง การปรับปรุงสภาพด้านหน้าอาคาร

ย่านถนนเจริญเมือง

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูทัศนียภาพ ให้เกิดบรรยากาศที่ดีแก่ถนนสายประวัติศาสตร์

  2. เพื่ออนุรักษ์และปรับปรุงอาคารที่มีคุณค่า และสนับสนุนแก่การใช้สอยกิจกรรมของ   

      กลุ่มการค้า

  3. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยของชุมชนเมือง และส่งเสริมกิจกรรมด้าน

      การค้าบริการของย่าน

            โครงการนำร่องเพื่อนำไปสู่ความเป็นรูปธรรมนั้น ทางคณะทำงานได้ศึกษา ประวัติความเป็นมาของอาคาร รวมถึงรายละเอียดรูปแบบ ลักษณะ คุณค่า ของสภาพด้านหน้าอาคารในย่านถนนเจริญเมือง ซึ่งเป็นย่านการค้าดั้งเดิมหน้าเมืองเก่าแพร่ เติบโตขึ้นในช่วงที่ชาวตะวันตก เช่น เดนมาร์ก อังกฤษ เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ หรือในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีพ่อค้าชาวไทใหญ่ ชาวอินเดีย และชาวจีน เข้ามาประกอบกิจการ โรงเหล้า โรงสี โรงฝิ่น โรงหนัง โรงแรม ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าที่ทันสมัยที่สุดของเมืองแพร่ ก่อนที่จะปิดกิจการ จึงเกิดลักษณะสถาปัตยกรรมในย่านที่น่าสนใจ

ทางโครงการ คัดเลือกอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม 3 รูแบบ คือ



1.เรือนร้านค้าไม้  

ความสำคัญของอาคาร เป็นตัวแทนของเรือนแถวไม้ในอดีตของย่านถนนเจริญเมือง  และเพื่อเป็นตัวอย่างในการอนุรักษ์อาคารเรือนแถวไม้

ปัญหา ส่วนประกอบอาคารที่ทำจากไม้เริ่มเสื่อมสภาพ ผุผัง

การซ่อมแซม รื้อถอนสิ่งบดบังออก เช่นแผ่นกั้นราวระเบียง ซ่อมแซมองค์ประกอบอาคารด้วยไม้เนื้อแข็ง ทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ เพื่ออนุรักษ์ความงามและคุณค่าทางสถาปัตยกรรม


 


เรือนร้านค้าไม้  ร้านมิตรหญิงและร้านไทยเจริญ ก่อนการปรับปรุง

   เรือนร้านค้าไม้ ขณะทำการปรับปรุง
เรือนร้านค้าไม้  หลังการปรับปรุง
  
เจ้าของเรือนร้านค้าไม้  รับมอบโครงการนำร่องการปรับปรุงหน้าอาคาร


2.ตึกแถวก่ออิฐถือปูนแบบชิโน-โปตุกีส

ความสำคัญของอาคาร  ร้าน เอ.เอส. ฮารีซิงค์ ตึกแถว 2 ชั้น 3 ห้อง สถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส หรือ  ชิโน–ยูโรเปี้ยน เพียงแห่งเดียวของย่านถนนเจริญเมือง เป็นอาคารแบบตะวันตกที่สร้างโดยช่างชาวจีน สมัยเมืองแพร่ทำป่าไม้ เดิมเป็นสำนักงาน แล้วซื้อขายแลกเปลี่ยนตกทอดมาจนถึงชาวอินเดีย  ที่ใช้ประกอบกิจการ โรงแรม สถานพยาบาล ปัจจุบันเป็นร้านขายเครื่องประดับเครื่องใช้จากประเทศอินเดีย  เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม (Colonial Style) กับศิลปะจีน อาคารก่ออิฐฉาบปูนแบบโบราณ โครงสร้างระบบกำแพงรับน้ำหนัก (Bearing Wall) ชั้นล่างด้านหน้าทำการค้า มีลานกลางบ้าน (court) เป็นส่วนซักล้าง บ่อน้ำ และเชื่อมต่อเรือนครัว ชั้นบนปูพื้นไม้ กั้นห้องสำหรับพักอาศัย ด้านหน้าอาคารประดับ อาช (arch) 3 วง ตกแต่งหัวเสาและลวดลายแบบตะวันตก ด้านล่างมีช่องทางเดิน “อาเขต”(arcade) ที่เรียงอิฐโครงสร้างแบบ โรมันอาช (Roman Arch) ด้านบนเป็นระเบียงลูกกรงเซรามิค

ปัญหา การซ่อมแซมโดยใช้ปูนฉาบผิดประเภททำให้เกิดความชื้น เกิดการผุกร่อนของผิวปูนฉาบและอิฐด้านใน

            การซ่อมแซมอาคาร กะเทาะปูนฉาบที่เสื่อมสภาพผนังอาคารด้านนอกทั้งหมดและฉาบผิวด้วยปูนหมักที่เหมาะสำหรับอาคารเก่าเพื่อไม่ให้ผนังอาคารเกิดความชื้น ทาสี ซ่อมแซมฝ้าชายคาหน้าอาคารและคิ้ว บัว ให้อยู่ในสภาพเดิม เสริมความแข็งแรงของเสาด้านหน้าด้วยโครงสร้างเหล็กตรงบริเวณที่ผุกร่อนแล้วจึงฉาบปูนทับ

 

ตึกแถวก่ออิฐถือปูนแบบชิโน-โปตุกีส ก่อนการปรับปรุง

ตึกแถวก่ออิฐถือปูนแบบชิโน-โปตุกีส ขณะปรับปรุง
ตึกแถวก่ออิฐถือปูนแบบชิโน-โปตุกีส หลังการปรับปรุง


เจ้าของอาคาร ตึกแถวก่ออิฐถือปูนแบบชิโน-โปตุกีส  รับมอบโครงการนำร่องการปรับปรุงหน้าอาคาร

3. อาคารพาณิชย์ยุคนีโอ - คลาสสิค (Neo - classic)  5 คูหา

ความสำคัญของอาคาร  “ตึกขาว” สถาปัตยกรรมนีโอ - คลาสลิค เพียงแห่งเดียวของย่านถนนเจริญเมือง ที่หลวงศรีนครานุกูล สร้างขึ้นเพื่อให้เช่า โดยใช้ช่างก่อสร้างชาวจีนเซี่ยงไฮ้ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2478 - 2479 และยังเป็นตึกแถวคอนกรีตเสริมเหล็กยุคแรกๆของเมืองแพร่ (ปูนซีเมนต์น่าจะนำเข้าจากประเทศอังกฤษ ผ่านท่าเรือสิงคโปร์) ตึกขาวเคยเป็นที่ตั้งของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ (BBC) สาขาแพร่ เมื่อพ.ศ. 2500 ต่อมาให้เช่าประกอบกิจการหลายประเภท คุณค่าทางสถาปัตยกรรมสะท้อนยุคสมัยของถนนเจริญเมือง ลักษณะเด่น เช่น ส่วนหลังคาเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารทาสีขาว บานหน้าต่างไม้ทาสีฟ้าอมเทา ด้านหน้าอาคารที่ช่องลมและหัวเสา มีการตกแต่งที่ตัดทอนรายละเอียด ที่ส่วนบนสุดของผนังชั้นล่าง มีลาย “egg and dart” ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมแบบนีโอ-คลาสลิค

ปัญหา เกิดการผุกร่อนของผิวปูนฉาบ กันสาดอาคารเกิดการรั่วซึม

การซ่อมแซมอาคาร ซ่อมแซมผนังอาคารด้านนอกและส่วนตกแต่งหน้าอาคาร ทาสี ให้อยู่ในสภาพเดิม ย้ายจานรับสัญญาณโทรทัศน์ไปไว้ที่ส่วนหลังคา (เจ้าของอาคารดำเนินการซ่อมส่วนกันสาดและพื้นผิวดาดฟ้าที่รั่วซึม รวมทั้งผนังภายในอาคารบางส่วนที่ผุกร่อน)


 

ตึกแถวคอนกรีตเสริมเหล็กแบบ นีโอ-คลาสสิค ก่อนการปรับปรุง


ตึกแถวคอนกรีตเสริมเหล็กแบบ นีโอ-คลาสสิค ขณะปรับปรุง


คอนกรีตเสริมเหล็กแบบ นีโอ-คลาสสิค หลังการปรับปรุง


 เจ้าของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแบบ นีโอ-คลาสสิค รับมอบโครงการนำร่องการปรับปรุงหน้าอาคาร







โครงการนำร่องที่นำไปปฏิบัติเป็นรูปธรรม

โครงการสื่อความหมายคุณค่ากำแพงเมืองเก่าแพร่

วัตถุประสงค์

1. เพื่อส่งเสริมคุณค่าความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อความหมายในรูปแบบต่างๆ เช่น ป้าย หุ่นจำลอง

2. เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเผยแพร่ข้อมูลประวัติศาสตร์เมือง

3. เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการสื่อความหมาย

การสื่อความหมายโดยหุ่นจำลองเมืองเก่า การสื่อความหมายที่สามารถจัดทำเป็นรูปธรรมนั้น จัดทำในรูปแบบ หุ่นจำลองเมือง เพื่อเป็นการสื่อสารในด้านคุณค่าของกำแพงเมืองเก่าแพร่ให้เห็นได้อย่างชัดเจน สามารถใช้ศึกษา ทำความเข้าใจ ลักษณะสัณฐาน สถานที่สำคัญ ของเมืองเก่าแพร่






จากโครงการนำร่อง การสื่อความหมายคุณค่ากำแพงเมืองเก่าแพร่                               

โครงการได้ส่งมอบหุ่นจำลองเมืองเก่าแพร่ 1 ชุด ให้ อบจ.แพร่ ณ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่



และส่งมอบหุ่นจำลองเมืองเก่าแพร่ 1 ชุด ให้นายกเทศมนตรีเมืองแพร่